Return to ข้อมูลพื้นฐาน

ประวัติ

ประวัติโรงเรียนอนุบาลลาดยาว

โรงเรียนนี้ตั้งขึ้น เมื่อวันที่ ๑ เดือน ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ ผู้ริเริ่มก่อตั้งครั้งแรก ได้แก่

  • นายเบี้ยว จั่นเจริญ นายอำเภอโกรกพระ
  • นายคง ใจรัก              ธรรมการอำเภอโกรกพระ
  • ขุนลาดบริบาล (นายหลง หมู่พยัคฆ์)            กำนันตำบลลาดยาว

และร่วมด้วยประชาชนชาวตำบลลาดยาวร่วมมือกันก่อตั้งขึ้น เมื่อแรกตั้งใช้นามโรงเรียนว่า “ โรงเรียนประชาบาล ตำบลลาดยาว ๑ ” โดยอาศัยศาลาการเปรียญของวัดลาดยาวเป็นที่เล่าเรียน ดำรงโรงเรียนอยู่ด้วยเงินศึกษาพลี เงินช่วยการประถมศึกษา ในงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเรียนตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ ๑ ถึงชั้นประถมปีที่ ๔  เมื่อเปิดเรียนครั้งแรกมีนักเรียน ๕๘ คน มีครูทำการสอน ๓ คน คือ

  • นายจรัส สังวรศีล เป็นครูใหญ่
  • นายจำลอง นาคสุริยะ        เป็นครูน้อย
  • นายบุญช่วย ธาสุกรี            เป็นครูน้อย

การเปลี่ยนแปลงในระยะต่อมา

พ.ศ. ๒๔๗๔      ได้ย้ายสถานศึกษาที่เรียนจากศาลาการเปรียญวัดลาดยาวมาเรียนที่อาคารสร้างใหม่ เป็นอาคารเรียน แบบ ป.๒ สร้างเป็นอาคารไม้ ๒ ชั้น ทรงปั้นหยา เมื่อจัดการก่อสร้างครั้งแรก ชั้นบนมี ๓ ห้องเรียน ส่วนชั้นล่างเป็นห้องโถงตลอดไม่มีฝากั้นห้อง เทพื้นชั้นล่างด้วยปูนซีเมนมีลูกกรงล้อมรอบ หลังคามุงด้วยกระเบื้องปูนซีเมนต์ กว้าง ๘.๕๐ เมตร ยาว ๒๔ เมตร ราคาค่าก่อสร้างจำนวน ๘,๖๐๐ บาท (แปดพันหกร้อยบาทถ้วน) เป็นเงินของประชาชนร่วมกันบริจาค

พ.ศ. ๒๔๙๓ คณะครูและนักเรียนในโรงเรียนนี้ ร่วมกันแสดงละครเก็บเงินสร้างห้องเรียน ต่อออกไปทางทิศใต้ ๑ ห้อง กว้าง ๘.๕๐ เมตร ยาว ๘ เมตร

พ.ศ. ๒๔๙๔ คณะครูและนักเรียนในโรงเรียนนี้ ร่วมกันแสดงละครเก็บเงินสร้างห้องเรียน ต่อออกมาในทิศใต้อีก ๑ ห้อง และในปลายปีได้เงินงบประมาณต่อเติม โดยกั้นฝาชั้นล่างทั้งหมดตีเป็นลูกกรง ตอนล่างตีเป็นฝาทึบแบบตั้งสูง ๑ เมตร ตอนบนตีเป็นลูกกรงแบบตีไขว้

พ.ศ. ๒๔๙๕ ต่อห้องเรียนออกไปทางด้านหลังทางทิศเหนือ ๑ ห้อง ใช้เป็นห้องเรียนของเด็กเล็ก เด็กนอกเกณฑ์บังคับ ห้องเรียนที่ต่อใหม่นี้ ผู้ปกครองนักเรียนเด็กเล็กที่เข้าเรียนในปีนี้ร่วมกันบริจาคเงินค่าก่อสร้าง

พ.ศ. ๒๔๙๘ ต่อห้องเรียนออกไปทางด้านหลัง ทางทิศใต้ ๑ ห้อง ด้วยเงินที่คณะครูและนักเรียนร่วมกันแสดงละครหาเงินรายได้ ทำการก่อสร้างต่อเติมในราคาค่าก่อสร้างจำนวนเงินทั้งสิ้น ๒,๐๐๐ บาท (สองพันบาทถ้วน)

พ.ศ. ๒๕๐๓ นักเรียนในโรงเรียนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น สถานที่เล่าเรียนของนักเรียนมีไม่เพียงพอ คณะกรรมการศึกษาของโรงเรียนและคณะครูร่วมกันหาเงินสร้างอาคารเรียนขึ้นใหม่อีก ๑ หลัง ทางด้านทิศใต้ของอาคารเรียนหลังเดิม เป็นอาคารเรียนชั่วคราว แบบ ๐๐๒ กว้าง ๗.๕๐ เมตร ยาว ๒๐ เมตร ราคาค่าก่อสร้าง ๖,๕๐๐ บาท (หกพันห้าร้อยบาท) ตั้งเสามุงหลังคาด้วยสังกะสีเท่านั้นไม่มีฝาและพื้น เป็นการแก้ปัญหานักเรียนไม่มีที่เรียน เงินค่าก่อสร้างอาคารเรียนหลังนี้ได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครองนักเรียนร่วมกันบริจาค

พ.ศ. ๒๕๐๔ คณะครูนักเรียนและกรรมการศึกษา ร่วมกันจัดงานประจำปี (งานปีใหม่ ๑ – ๓ มกราคม ๒๕๐๔) หาเงินรายได้ต่อเติมอาคารเรียนชั่วคราวเพิ่มออกไป เพื่อให้มีที่เรียนเพียงพอกับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น การจัดงานในครั้งนี้ได้กำไรสุทธิเป็นเงิน ๕,๐๐๐ บาท (ห้าพันบาท) ต่อเติมอาคารชั่วคราวหลังเดิมยาว ๑๖ เมตร กว้าง ๗.๕๐ เมตร โดยตั้งเสาและมุงหลังคาไว้เท่านั้น

พ.ศ. ๒๕๐๕ คณะครูนักเรียนและกรรมการศึกษา ร่วมกันจัดงานประจำปีงานปีใหม่ได้เงินเป็นกำไรสุทธิ ๓,๘๐๐ บาท (สามพันแปดร้อยบาท) มีผู้ปกครองนักเรียนบริจาคอีก ๒,๕๐๐ บาท (สองพันห้าร้อยบาท) โดยตีฝารอบอาคารเรียนที่สร้างไว้แต่ปีก่อน ๆ ตอนล่างตีฝาทึบแบบฝาตั้งสูง ๑ เมตร ส่วนตอนบนเหนือฝาทึบตีเป็นลูกกรง

พ.ศ. ๒๕๐๖ ได้รับเงินงบประมาณจากทางราชการ ๒๐,๐๐๐ บาท (สองหมื่นบาทถ้วน)ขยายอาคารชั่วคราวที่สร้างไว้เดิม โดยต่อเติมออกอีก ๑๔ เมตร เทพื้นด้วยปูนซีเมนต์ และเทพื้นทางเท้ารอบอาคารเรียน ภายในอาคารเรียนด้านทิศตะวันตกทำเป็นเวทียกขึ้นสูง ๑ เมตร ยาว ๕ เมตร กว้าง ๗.๕๐ เมตร และในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ นี้ คณะครูนักเรียนและกรรมการศึกษาจัดงานประจำปีหาเงินรายได้เป็นกำไรสุทธิ ๔,๕๐๐ บาท (สี่พันห้าร้อยบาท) สร้างอาคารชั่วคราวแบบ ๐๐๒ ขึ้นอีก ๑ หลัง ห่างจากอาคารชั่วคราวหลังเดิมไปทางทิศตะวันออก กว้าง ๗.๕๐ เมตร ยาว ๒๔ เมตร ตั้งเสามุงหลังคาด้วยสังกะสี ปราบพื้นดินให้เรียบพออาศัยเป็นที่เล่าเรียนได้

พ.ศ. ๒๕๐๘ ได้รับเงินงบประมาณจากกระทรวงศึกษาธิการ เป็นเงิน ๑๒๕,๐๐๐ บาท(หนึ่งแสนสองหมื่นห้าพันบาทถ้วน) สร้างเป็นอาคารเรียนแบบถาวร แบบ  ๐๑๗ กว้าง ๘.๕๐ เมตร ยาว ๓๓ เมตร สร้างติดกับบริเวณทางทิศตะวันออกหันหน้าอาคารเรียนไปทางทิศเหนือ การก่อสร้างตัดแบบรูปรายการออกไปเหลือเพียงชั้นบน ๔ ห้องเรียน ชั้นล่างเป็นใต้ถุนสูงไม่มีฝาเพราะเงินงบประมาณไม่เพียงพอ ตกลงอาคารเรียนหลังนี้ค่าจ้างในการก่อสร้างเป็นเงิน ๑๔๕,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนสี่หมื่นห้าพันบาท) สูงกว่าเงินงบประมาณ ๒๐,๐๐๐ บาท (สองหมื่นบาท) ต้องหาเงินเพิ่มเพื่อสมทบกับเงินงบประมาณ คณะกรรมการหาเงินประกอบด้วย

๑. นายเสถียร    หุนตระกูล                  นายอำเภอลาดยาว

๒. นายภิญโญ    เอกนาม                    ศึกษาธิการอำเภอลาดยาว

๓. นายประมนต์ เดชดำรง                    สมุห์บัญชีอำเภอลาดยาว

๔. นายประยูร   บุญเรืองศักดิ์               คหบดีและเป็นสมาชิกสภาจังหวัดนครสวรรค์

๕. นางประไพ    บุญเรืองศักดิ์               ครูใหญ่โรงเรียนบ้านลาดยาว

คณะกรรมการชุดนี้ได้ดำเนินการติดต่อขอความร่วมมือจาก พ่อค้า ประชาชน ผู้ปกครอง นักเรียน ให้ช่วยกันบริจาคเงินสมทบสร้างอาคารเรียนหลังนี้ จนได้เงินครบ ๒๐,๐๐๐ บาท (สองหมื่นบาท)

พ.ศ. ๒๕๐๙ ได้รับเงินงบประมาณจากกระทรวงศึกษาธิการ สร้างอาคารเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลาย เป็นอาคารไม้ ๒ ชั้น แบบ ๐๑๗ กว้าง ๘.๕๐ เมตร ยาว ๓๓ เมตร เงินค่าก่อสร้าง ๒๘๐,๐๐๐ บาท (สองแสนแปดหมื่นบาทถ้วน) อาคารสร้างใหม่หลังนี้สร้างติดกับอาคารแบบ ๐๑๗ ที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ สร้างติดต่อเป็นหลังเดียวกัน ขนาด ๘ ห้องเรียน สร้างได้เต็มตามแบบรูป และในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ นี้ยังได้รับเงินงบประมาณจากกองสลากกินแบ่งอีก ๔๘๐,๐๐๐ บาท (สี่แสนแปดหมื่นบาทถ้วน) สร้างเป็นอาคารไม้แบบ ๐๑๕ ชั้นล่างยกพื้นสูง จำนวนห้องเรียน ๑๒ ห้อง เป็นอาคาร ๒ ชั้น ตัวอาคารทาสี และมีอุปกรณ์ประจำห้องเรียนครบ ส่วนอาคารชั่วคราว ๒ หลังนั้นรื้อออกดัดแปลงเป็นโรงอาหารของโรงเรียน

พ.ศ. ๒๕๑๕ ได้รับเงินงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ จำนวนเงิน ๓๗๐,๐๐๐ บาท (สามแสนเจ็ดหมื่นบาท) สร้างอาคารเรียนใหม่ขึ้นอีก ๑ หลัง เป็นอาคารไม้แบบ ๐๑๕ จำนวนห้องเรียน ๘ ห้องเรียน ๒ ชั้น ชั้นล่างยกพื้นสูง กว้าง ๘.๕๐ เมตร ยาว ๓๒ เมตร ตัวอาคารทาสี ไม่มีอุปกรณ์ประจำห้อง ทางโรงเรียนต้องหาอุปกรณ์ประจำห้องเอง โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครองนักเรียนบริจาคเงินโดยมีวัตถุประสงค์จัดซื้ออุปกรณ์ประจำห้องเรียนให้ เช่น โต๊ะเก้าอี้ครู-นักเรียน กระดานดำ ฯลฯ

การขยายการศึกษา

เปิดสอนชั้นเด็กเล็ก                    เมื่อวันที่ ๒๐ เดือน พฤศจิกายน    พ.ศ. ๒๔๙๕

เปิดสอนชั้นประถมปีที่ ๕           เมื่อวันที่ ๑๖ เดือน เมษายน        พ.ศ. ๒๕๐๕

ปีการศึกษา ๒๕๐๖                   ขยายชั้นประถมปีที่    ๕     เป็น    ๒    ห้อง    

                                                ขยายชั้นประถมปีที่  ๒  เป็น   ๑     ห้อง

ปีการศึกษา ๒๕๐๗                  ขยายชั้นประถมปีที่        ๕        เป็น     ๓        ห้อง

                                                ขยายชั้นประถมปีที่        ๖        เป็น     ๑        ห้อง

                                                ขยายชั้นประถมปีที่        ๗        เป็น     ๑        ห้อง

          ได้ขยายชั้นเรียนเพิ่มขึ้นทุกๆปี ตามจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ปกครองนักเรียนและประชาชนส่วนมาก นิยมส่งบุตรหลานของตนมาเข้าเล่าเรียนเป็นจำนวนมากขึ้นทุกๆปี

          ปีการศึกษา ๒๕๑๕ เริ่มขยายการศึกษาภาคบังคับถึงชั้นประถมปีที่ ๗